• ซื้อบ้านเพื่ออยู่ในลักษณะลงทุนดีอย่างไร

บ้านนั้นนอกจากให้ประโยชน์ในด้านใช้เป็นที่พักอาศัยในเวลาปัจจุบันแล้ว บ้านทำเลดีนั้นยังถือว่าเป็นการออมหรือการลงทุนที่ชาญฉลาดซึ่งให้ผลคุ้มค่ามากในอนาคตอีกด้วย

ทำเลที่ดีของบ้านนั้นจะให้ผลการเพิ่มมูลค่าบ้าน ทำให้บ้านมีมูลค่าเพิ่มเป็นทรัพย์สินที่สามารถถูกประโยชน์แล้วยังให้ผลที่คุ้มค่าเงินที่ได้ซื้อโดยการขายในอนาคตอีกด้วย

จากการเฝ้าวิเคราะห์และสังเกตุพฤติกรรมการมีบ้านของคนหลายคนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งตาย เราพบว่าในช่วงชีวิตคน 1 คนจะมีการโยกย้ายเปลี่ยนที่อยู่อย่างน้อย 1 ครั้ง มีคนในสังคมเมืองจำนวนน้อยมากๆ ที่จะพักอาศัยในสถานที่เกิดต่อเนื่องจนกระทั้งตาย เหตุผลที่ซ่อนเร้นอยู่ ที่ทำให้เกิดความต้องการในการโยกย้ายเปลี่ยนที่อยู่อาศัยนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายปัจจัย อาทิ เช่น ประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมกับครอบครัวในปัจจุบันและอนาคต, ขนาดครอบครัวที่ขยายมีสมาชิกเพิ่ม, การแยกครอบครัวหรือมีครอบครัวใหม่, อายุหรือวัยวุฒิของสมาชิกครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลง, กระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและการวิถีการดำเนินชีวิตของคน, นโยบายเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ความต้องการบ้านหากเปรียบเทียบตามความต้องการของคน คนเรายังมีวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่และวัยชรา ความต้องการบ้านที่เหมาะสมต่อครอบครัวของคนก็สามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือครอบครัวตั้งต้น ครอบครัววัยผู้ใหญ่ตอนกลางและครอบครัวโตเต็มวัย

ครอบครัวตั้งต้น หมายถึงครอบครัวขนาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้งหรือเพิ่งแต่งงาน มีความไม่ซับซ้อน ต้องการความคล่องตัวสูง เริ่มวางแผนที่จะทายาทตัวน้อยๆ

ครอบครัววัยผู้ใหญ่ตอนกลาง คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 คือ ลูก ผู้ใหญ่ในครอบครัวอยู่ในวัยทำงาน สมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 ยังไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองหรือยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ยังไม่พร้อมจะแยกไปมีครอบครัวใหม่ ครอบครัววัยผู้ใหญ่ตอนกลางเมื่อเทียบกับครอบครัวตั้งต้น ถือมีความต้องการซับซ้อนมากขึ้น

ครอบครัวโตเต็มวัย ประกอบด้วยคนทุกวัย อาจมีสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 3 ขึ้นไป (หลานหรือเหลน) มีผู้ใหญ่ที่เกษียณการทำงานแล้วหรือคนสูงอายุพักอาศัยอยู่ด้วย มีความต้องการที่ซับซ้อนมากที่สุด เช่นควรมีที่พักให้กับผู้ใหญ่ที่สูงอายุอยู่บริเวณชั้นล่าง เนื่องจากสภาพร่างกายที่มีขีดจำกัด

หากบ้านเปรียบเสมือนเสื้อผ้า เราจะเอาผู้ใหญ่มาใส่เสื้อผ้าของเด็ก หรือเอาเด็กมาใส่เสื้อผ้าผู้ใหญ่ พิจารณาดูอย่างไรก็จะเห็นถึงความไม่เข้ากัน ไม่เหมาะสมเอามากๆ ด้วยเหตุนี้ในบ้าน 1 หลังนั้น ไม่เหมาะพอดีกับชีวิตคน 1 คนตั้งแต่เกิดจนตายด้วยเหตุผลหลากประการที่ได้กล่าวมาแล้ว ความคิดที่จะซื้อบ้าน 1 หลังแล้วอยู่ไปทั้งชีวิต ในความเป็นจริงนั้นจึงเกิดขึ้นน้อยมากๆ ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ผู้อ่านย้อนนึกถึงข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วตั้งหลักในการเลือกซื้อบ้านตามความเหมาะสมกับครอบครัวปัจจุบันและการวางแผนในครอบครัวในอนาคตประกอบกับกำลังทรัพย์ในปัจจุบัน กรอบของเวลาที่เหมาะสมที่จะหาบ้านตามลักษณะการเติบโตของครอบครัว

หากวันนี้เรามีกำลังทรัพย์ไม่มาก และอยู่ในลักษณะที่จะเป็นครอบครัวแบบ ครอบครัวตั้งต้นหรือครอบครัววัยผู้ใหญ่ตอนกลาง ซึ่งคิดว่าจะมีการเปลี่ยนบ้าน 2 ครั้งในช่วงชีวิต เราจะต้องมีการขายบ้านหลังที่ 1 ไปซื้อหลังที่ 2 การซื้อบ้านในแบบ ซื้อบ้านให้เพิ่มมูลค่าจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

เนื่องจากเป็นการซื้อบ้านอย่างชาญฉลาดโดยใช้เหตุในด้านการลงทุนประกอบการตัดสินใจ ใช้หลักการมองหาทำเลที่ตั้งของบ้านใหม่ให้อยู่ในพื้นที่ที่ความเจริญ เมืองจะขยายตัวกลืนเข้ามาในทำเลพื้นที่บ้านที่จะซื้อ  ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผังเมืองตลอดจนข้อมูลโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ ของรัฐบาลหรือส่วนราชการท้องถิ่น หากได้มีการศึกษาและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบโดยใช้หลักเหตุและผลซื้อบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าบ้านในการตัดสินใจด้วย จะทำให้บ้านหลังนี้ในอนาคตหากขาย จะขายได้ราคาสูงขึ้น

ซึ่งบางทีการขายบ้านหลังนี้ ไปซื้อบ้านที่ใหญ่กว่าหลังใหม่ในอนาคต เราอาจจะแทบไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะบ้านหลังเก่าขายได้ราคาสูงเนื่องจากอยู่กลางเมืองไปเสียแล้ว

สรุปก็คือขายได้ราคาที่สูงขึ้นและได้อยู่ฟรีมาหลายปีกำไร 2 ต่อ ทั้งใช้ฟรีไม่ต้องเช่าแถบเหลือเงินไปซื้อใหม่ใหญ่กว่าเดิม ในบางกรณีหลังจากขายแล้วใช้เงินซื้อบ้านหลังใหม่ไปแล้วยังมีเงินเหลือไว้ใช้ทำการค้าหรือไว้ใช้ยามแก่อีกด้วย